วิทยาศาสตร์ ม.3

           ระบบนิเวศ และองค์ประกอบของระบบนิเวศ

              

ระบบนิเวศ  (ecosystem)  หมายถึง  ระบบที่มีความสัมพันธ์กันของกลุ่มสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งสภาพแวดล้อม
ที่ไม่มีชีวิตด้วย เช่น  อุณหภูมิ  แสง  ความชื้น  ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  ซึ่งความสัมพันธ์นั้นหมายถึง  การอาศัยอยู่ร่วมกัน ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในบริเวณหนึ่งนั่นเอง     ดังนั้นในบริเวณใดๆที่มีสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมีความสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารและถ่ายทอดพลังงาน
ระหว่างกัน  เรียกว่า  ระบบนิเวศ  (ecosystem)

องค์ประกอบของระบบนิเวศ  (ecosystem  componet) 
   องค์ประกอบระบบนิเวศสามารถแบ่งออกเป็น  2  หมวดใหญ่ๆ  ได้ดังนี้
1)  ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต  (abiotic  component)  เป็นส่วนประกอบในระบบนิเวศที่ไม่มีชีวิต
เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศขึ้นมา  โดยมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต 
ถ้าขาดองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิตนี้สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศก็ไม่สามารถอยู่ได้  โดยแบ่งออกเป็น  3  ประเภท คือ
     -  อนินทรีย์สาร  เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติและเป็นส่วนประกอบที่เป็นแร่ธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างเนื้อเยื่อ
และอวัยวะต่างๆ  เช่น  ธาตุคาร์บอน  ไฮโดรเจน  น้ำ  ออกซิเจน  ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  เป็นต้น  ซึ่งส่วนใหญ่ ่อยู่ในรูปของสารละลาย  สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปใช้ได้ทันที
    -  อินทรีย์สาร  เป็นสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิต  เช่น  คาร์โบไฮเดรต  โปรตีน  ฮิวมัส  เป็นต้น  เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพัง
ของสิ่งมีชีวิต  โดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์  ทำให้เป็นธาตุอาหารของพืชอีกครั้ง
   -  สภาพแวดล้อมทางกายภาพ  เช่น  แสงสว่าง  อุณหภูมิ  ความชื้น  ความเป็นกรด-เบส  ความเค็มเป็นต้น
สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นแตกต่างกันออกไป
2)  ส่วนประกอบที่มีชีวิต  (biotic  component)  ได้แก่  พืช  สัตว์  รวมทั้งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก  และสิ่งมีชีวิต
เซลล์เดียว  ซึ่งช่วยทำให้ระบบนิเวศทำงานได้อย่างเป็นปกติ  โดยแบ่งออกตามหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต  ได้เป็น  3  ประเภท  คือ
   -  ผู้ผลิต  (producer)  คือ  สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้โดยการสังเคราะห์ด้วยแสง  ได้แก่ พืชสีเขียว 
แพลงก์ตอนพืช  และแบคทีเรียบางชนิด  ผู้ผลิตมีความสำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งไม่มีชีวิต
และสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศ
   -  ผู้บริโภค  (consumer)  คือ  สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารขึ้นเองได้  แต่ได้รับธาตุอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิต อื่นอีกทอดหนึ่ง  พลังงานและแร่ธาตุจากอาหารที่สิ่งมีชีวิตกิน  จะถูกถ่ายทอดสู่ผู้บริโภค  ซึ่งแบ่งตามลำดับของการกินอาหารได้  ดังนี้
   -  ผู้บริโภคปฐมภูมิ  (primary  consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหาร  (herbivore)  โดยตรง 
เช่น  ปะการัง  เม่นทะเล  กวาง  กระต่าย  วัว  เป็นต้น
ผู้บริโภคทุติยภูม  (secondary  consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตพวกสัตว์กินเนื้อ  (carnivore)  หมายถึง
สัตว์  ที่กินสัตว์กินพืช  หรือผู้บริโภคปฐมภูมิเป็นอาหาร  เช่น  ปลาไหลมอเรย์  ปลาสาก  นก  งู  หมาป่า  เป็นต้น
   -  ผู้บริโภคตติยภูมิ  (tertiary  consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์กินสัตว์หรือพวกที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร  (omnivore)  เช่น  ปลาฉลาม
เต่า  เสือ  คน  เป็นต้น
    - ผู้ย่อยสลาย  (decomposer)  คือ  สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้  แต่อาศัยอาหารจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยการสร้างน้ำย่อย  ออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่างๆในส่วนประกอบของซากสิ่งมีชีวิตให้เป็นสารโมเลกุลเล็กๆ แล้วจึงดูดซึมอาหารผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปใช้  เช่น  แบคทีเรีย  เห็ด  รา  เป็นต้น
     ระบบนิเวศ  มีคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  มีกลไกในการปรับสภาวะตนเองเพื่อให้อยู่ในสภาวะสมดุล  โดยการที่ส่วนประกอบของระบบนิเวศทำให้เกิดการหมุนเวียนและถ่ายทอดสารอาหารผ่านสิ่งมีชีวิตซึ่งได้แก่  ผู้ผลิต  ผู้บริโภค  และผู้ย่อยสลายนั่นเอง  ถ้าระบบนิเวศนั้นได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ  และไม่มีอุปสรรคขัดขวางวัฏจักรของธาตุอาหาร  ก็จะทำให้เกิด  ภาวะสมดุล  (equilibrium)  ในระบบนิเวศนั้น  ทำให้ระบบนิเวศนั้นมีความคงตัว  ทั้งนี้เพราะการผลิตอาหารสมดุลกับการบริโภคภายในระบบนิเวศนั้น  การปรับสภาวะตัวเองนี้  ทำให้การผลิตอาหาร และการเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนั้นมีความพอดีกัน  กล่าวคือจำนวนประชากรชนิดใดๆ ในระบบนิเวศจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขอบเขตได้

แบบทดสอบ เรื่อง ระบบนิเวศ